เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2568 ภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย รองศาสตราจารย์ ดร.จิรวัฒน์ ชีวรุ่งโรจน์ (หัวหน้าภาควิชาฯ) ให้การต้อนรับ นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายความยั่งยืนขององค์กร บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อร่วมบูรณาการองค์ความรู้จากงานวิจัยในการศึกษาความเป็นไปได้ของการใช้ประโยชน์จาก ‘หางแร่ (Tailings)”
อัครา สร้างโอกาสธุรกิจใหม่จาก ‘หางแร่’ เหลือใช้ ผ่านความร่วมมือ จุฬาฯ ผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างยั่งยืน
บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบการเหมืองแร่ทองคำและเงินแห่งเดียวของประเทศไทย ประกาศความร่วมมือกับ ภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผ่านการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อร่วมบูรณาการองค์ความรู้จากงานวิจัยในการศึกษาความเป็นไปได้ของการใช้ประโยชน์จาก ‘หางแร่ (Tailings)” ที่เกิดจากการกระบวนการผลิตแร่ทองคำและเงินให้กลายเป็นแร่เศรษฐกิจ (Economic Minerals) แห่งอนาคตที่สามารถนำมาผลิตวัสดุก่อสร้างคุณภาพสูง พร้อมเตรียมแผนกรุยทางสร้างโอกาสธุรกิจของวิสาหกิจในชุมชนนำร่อง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สู่การเป็นต้นแบบของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ที่มีการบริหารจัดการของเสียให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างยั่งยืน
อาจารย์ ดร.พีท หอมชื่น อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “โครงการนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการบูรณาการองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมเหมืองแร่กับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับหางแร่ซึ่งเป็นวัสดุเหลือทิ้งจากกระบวนการแต่งแร่ โดยการนำมาพัฒนาเป็นอิฐบล็อกคุณภาพสูงที่มีความแข็งแรงและทนทานกว่าอิฐทั่วไป นอกจากจะช่วยลดการใช้ทรัพยากรจากธรรมชาติแล้ว ยังช่วยลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในกระบวนการก่อสร้าง สร้างศักยภาพของชุมชนและรายได้ให้กับชุมชนรอบเหมือง ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตในระยะยาว ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย Net Zero และ SDGs ด้าน Sustainable Cities & Communities และ Responsible Consumption & Production ความร่วมมือระหว่างอัคราฯ และจุฬาฯ ในครั้งนี้จะเป็นต้นแบบสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของผู้ประกอบการเหมืองแร่และงานวิจัยไทยในการตอบโจทย์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม”
โดยภายใต้ความร่วมมือในครั้งนี้มีการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยเรื่อง การใช้ประโยชน์จากหางแร่ของ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ที่จะให้การสนับสนุนงบประมาณการวิจัยปีละ 3,000,000 บาท ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อผลักดันการศึกษาเชิงลึกและพัฒนานวัตกรรมอย่างเป็นรูปธรรม โดยได้รับเกียรติจาก ดร.ศุภิชัย ตั้งใจตรง กรรมการผู้อำนวยการ ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รศ.ดร.จิรวัฒน์ ชีวรุ่งโรจน์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม คณะวิศวกรรมศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นายจำรัส แสงศรีจันทร์ กรรมการบริษัท และนายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายความยั่งยืนขององค์กร บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ในการลงนามครั้งนี้
